วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

รายงาน เรื่อง การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคาร เพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร


การตรวจสอบสมรรถนะของระบบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคาร
เพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร

นายชัยยุทธ์ เงินส่งเสริม
นักศึกษาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม e-mail address : cccc@sanook.com

Keyword : การตรวจสอบสมรรถนะ, ตรวจสอบอาคาร

บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบวิธีการหรือขั้นตอนในการตรวจสอบหรือทดสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร ซึ่งจะทำให้ได้ทราบว่าอาคารที่ทำการทดสอบสมรรถนะมีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคารมากน้อยเพียงใด รวมทั้งได้รู้จักอุปกรณ์และทราบค่ามาตรฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบสมรรถนะของระบบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคาร

Abstract
This article aims to determine the method or process to monitor or test the performance of various systems and equipment of the building to evacuate the residents. This will make the performance testing that how the building is safe for the residents. And the reader will learn about equipment and the related standards in the performance testing of the system and various buildings and equipment.

บทนำ
จากขั้นตอนการตรวจสอบอาคารในส่วนของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคารที่ผ่านมา เป็นการตรวจสอบที่พิสูจน์ทราบว่า “มี” การติดตั้งระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคารตามที่กฎหมายกำหนด แต่ยังมิได้มีการตรวจสอบหรือทดสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคารว่าจะสามารถทำงานได้จริงและมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ เพื่อเป็นการยืนยันความพร้อมของอาคาร การดำเนินการทดสอบสมรรถนะนี้จะมีการนำเครื่องมือตรวจวัดมาร่วมกับการทดสอบของอุปกรณ์ เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน เมื่อจำลองสถานการณ์การเกิดเหตุอุปกรณ์ประกอบอาคารจะต้องทำงานได้จริงและทำหน้าที่ร่วมกันอย่างมีขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่น ตรวจสอบการฉีดน้ำดับเพลิง โดยให้ระบบน้ำสำรองและปั๊มน้ำดับเพลิงทำงานตามขั้นตอน การทดสอบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ขั้นตอนการทำงานและช่วงเวลาการทำงานของระบบจะต้องถูกต้องและสอดคล้องกับค่ามาตรฐานการวัดแรงดันอันอากาศภายในบันไดหนีไฟด้วยเครื่องมือวัดเฉพาะทางและการทดสอบระบบไฟฟ้าสำรอง ที่ต้องรองรับจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้อุปกรณ์ช่วยชีวิตและแสงสว่างภายในบันไดหนีไฟ หรือเส้นทางสู่พื้นที่ปลอดภัย ดังนั้นการทดสอบสมรรถนะ จึงมีความจำเป็นต่ออาคารและเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของความปลอดภัยทั้งหมดที่พร้อมจะใช้งานเมื่อยามเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยมีระบบและอุปกรณ์หลักที่จำเป็นต้องได้รับการทดสอบสมรรถนะ ดังนี้
สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
วัตถุประสงค์ในการทดสอบสมรรถนะ
เพื่อเป็นการพิสูจน์ยืนยันว่าระบบบันไดหนีไฟและทางหนีไฟใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ สามารถขนย้ายผู้ใช้อาคารออกสู่ภายนอกอาคารได้โดยปลอดภัยในภาวะฉุกเฉิน ภายในเวลาที่กำหนด

ขั้นตอนการทดสอบสมรรถนะ
1. ประสานงานเจ้าของอาคารเพื่อแจ้งวันเวลาในการทดสอบสมรรถนะระบบ เพื่อที่อาคารจะได้แจ้งผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ใช้งานอาคาร, อาคารข้างเคียง หรือ สถานีวิทยุ จ.ส.100 เพื่อให้ทราบว่าเป็นการทดสอบหรือการซ้อมเท่านั้น มิได้เกิดเหตุจริงเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดหรือแตกตื่น
2. ตรวจสอบความพร้อมของบันไดหนีไฟและทางหนีไฟทุกเส้นทางที่มีในอาคาร เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานได้โดยไม่มีอุปสรรคกีดขวาง และไม่ได้ถูกปิดกั้น
3. สมมติเหตุการณ์ว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ณ ที่ใดในอาคาร
4. กดสวิตช์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ ณ ตำแหน่งที่สมมติว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้
5. ดำเนินตามขั้นตอนการอพยพผู้ใช้อาคารตามแผนซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟที่อาคารจัดทำ
6. เริ่มนับเวลาตั้งแต่เริ่มกดสวิตช์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ จนกระทั่งสิ้นสุดเมื่อผู้ใช้อาคารคนสุดท้ายออกมาสู่ภายนอกอาคารโดยปลอดภัย
7. นับจำนวนผู้ใช้งานอาคารว่าครบถ้วนและทุกคนอยู่ในสภาพปลอดภัย
8. นำผลการทดสอบไปพิจารณาจัดทำรายงานการตรวจสอบอาคาร


รูปที่ 1 ตัวอย่างบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ


รูปที่ 2 ตัวอย่างประตูหนีไฟ

สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
วัตถุประสงค์ในการทดสอบสมรรถนะ
เพื่อเป็นการพิสูจน์ยืนยันว่าระบบเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉินสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยจะให้ความสำคัญกับการชี้บอกทางออกสู่นอกอาคารโดยไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน และไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินที่จะใช้ส่องทางระหว่างเส้นทางหนีไฟ

ขั้นตอนการทดสอบสมรรถนะ
1. ประสานงานเจ้าของอาคารเพื่อแจ้งวันเวลาในการทดสอบสมรรถนะระบบ เพื่อที่อาคารจะได้แจ้งผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ใช้งานอาคาร ฝ่ายช่างประจำอาคาร เนื่องจากในการทดสอบสมรรถนะระบบเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน อาจจำเป็นต้องมีการดับกระแสไฟฟ้าในบางส่วนของอาคาร
2. ในส่วนเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน มีลำดับขั้นตอนการทดสอบสมรรถนะดังนี้
- ตรวจสอบสภาพภายนอกของเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน ว่าอยู่ในสภาพปกติพร้อมใช้งาน ทั้งนี้ตามมาตรฐานไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน จะต้องเป็นชนิดชุดเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นป้ายทางออกฉุกเฉินคงแสง อุปกรณ์ทั้งหมด เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟฟ้า ชุดควบคุมอุปกรณ์ทดสอบและอุปกรณ์แสดงสภาวะ ประกอบอยู่ภายในป้าย หรือ ใกล้ป้ายภายในระยะ 1 เมตรของสายต่อ
- ทดสอบสมรถนะของการคงแสง (ป้ายต้องส่องสว่างแม้ไม่ได้รับพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าภายนอก) โดยการตัดกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้แก่วงจรของไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน อาจโดยการถอดปลั๊กเฉพาะจุด หรือ การตัดกระแสไฟฟ้าที่เบรกเกอร์ควบคุมวงจรไฟฟ้า
- วัดค่าความสว่างต่ำสุดบนพื้นป้ายภายในระยะ 25 มิลลิเมตรจากสัญลักษณ์ ต้องมีความเข้มการส่องสว่างไม่น้อยกว่า 8 แคนเดลาต่อตารางเมตร
- จับเวลานับตั้งแต่ตัดกระแสไฟฟ้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง ป้ายทางออกฉุกเฉิน จะยังต้องคงแสงอยู่ได้เพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอในการอพยพผู้ใช้งานอาคารออกสู่ภายนอกได้โดยปลอดภัย
3. ในส่วนไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน มีลำดับขั้นตอนการทดสอบสมรรถนะดังนี้
- ตรวจสอบสภาพภายนอกของไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน ว่าอยู่ในสภาพปกติพร้อมใช้งาน ทั้งนี้ตามมาตรฐานไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน ควรเป็นชนิดชุดเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินไม่คงแสง อุปกรณ์ทั้งหมด เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟฟ้า ชุดควบคุมอุปกรณ์ทดสอบและอุปกรณ์แสดงสภาวะ ประกอบอยู่ภายในโคม หรือ ใกล้โคมภายในระยะ 1 เมตรของสายต่อ
- ทดสอบสมรถนะของการให้แสงสว่างในภาวะฉุกเฉิน โคมต้องส่องสว่างขณะไม่ได้รับพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าภายนอก โดยการตัดกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้แก่วงจรของโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน อาจโดยการถอดปลั๊กเฉพาะจุด หรือ การตัดกระแสไฟฟ้าที่เบรกเกอร์ควบคุมวงจรไฟฟ้า โคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินต้องเปลี่ยนจากแหล่งจ่ายไฟปกติมาเป็นแหล่งจ่ายไฟฉุกเฉิน (แบตเตอรี่ภายใน) ในระยะเวลาไม่เกิน 5 วินาที และต้องให้แสงเต็มพิกัดภายใน 60 วินาทีสำหรับพื้นที่ปกติ หรือ 0.25 วินาทีสำหรับพื้นที่งานความเสี่ยงสูง
- วัดค่าความส่องสว่างที่จุดต่าง ๆ ในเส้นทางหนีไฟ ต้องได้ค่าความส่องสว่างดังนี้
o ทางหนีไฟ ที่ระดับพื้น ไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์ และ ณ จุดใด ๆ ไม่น้อยกว่า 0.5 ลักซ์
o พื้นที่โล่งใหญ่ ไม่น้อยกว่า 0.5 ลักซ์
o พื้นที่งานอันตราย ไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์ และต้องไม่ขาดช่วง
- จับเวลานับตั้งแต่ตัดกระแสไฟฟ้าเป็นเวลา ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง โคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน จะยังต้องส่องสว่างอยู่ได้ โดยความสว่างลดลงได้เหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของระดับส่องสว่างเริ่มแรก เพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอในการอพยพผู้ใช้งานอาคารออกสู่ ภายนอกได้โดยปลอดภัย
4. นำผลการทดสอบไปพิจารณาจัดทำรายงานการตรวจสอบอาคาร

รูปที่ 3 การคงแสงของไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน


รูปที่ 4 ทดสอบความพร้อมใช้งานโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน

สมรรถนะระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
วัตถุประสงค์ในการทดสอบสมรรถนะ
เพื่อเป็นการพิสูจน์ยืนยันว่าระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่อและควบคุมระบบที่เกี่ยวเนื่องให้ทำงานร่วมกันได้ในภาวะฉุกเฉินเป็นขั้นตอนตามที่กำหนดไว้


ขั้นตอนการทดสอบสมรรถนะ
1. ประสานงานเจ้าของอาคารเพื่อแจ้งวันเวลาในการทดสอบสมรรถนะระบบ เพื่อที่อาคารจะได้แจ้งผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ใช้งานอาคาร, อาคารข้างเคียง, สถานีดับเพลิง, สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือ สถานีวิทยุ จ.ส.100 เพื่อให้ทราบว่าเป็นการทดสอบหรือการซ้อมเท่านั้น มิได้เกิดเหตุจริงเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดหรือแตกตื่น
2. ตรวจสอบความพร้อมของระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เพื่อให้แน่ใจก่อนทำการทดสอบว่าสามารถใช้งานได้
3. สมมติเหตุการณ์ว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ณ ที่ใดในอาคาร
4. กดสวิตช์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ หรือ กระตุ้นให้อุปกรณ์ตรวจจับควันหรือความร้อนทำงาน ณ ตำแหน่งที่สมมติว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้
5. ตรวจสอบสมรรถนะของระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ต้องได้ตามคุณลักษณะดังนี้
5.1 หากเป็นการกระตุ้นด้วยการกดสวิตช์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ ระบบจะทำงานและส่งสัญญาณแจ้งเตือนทันที (กระดิ่งดัง) โดยไม่มีช่วงหน่วงเวลา และชุดควบคุมจะสั่งการให้กระดิ่งดังทั้งหมด และเชื่อมต่อไปยังระบบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทันที
5.2 หากเป็นการกระตุ้นให้อุปกรณ์จับควันหรือความร้อนทำงานแล้วส่งสัญญาณให้ชุดควบคุม จะมีระยะเวลาการทำงานเป็นขั้นตอน กล่าวคือ จะแจ้งมายังแผงควบคุมให้ทราบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นก่อน เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทำการตรวจสอบว่าเป็นการเกิดเพลิงไหม้จริงหรือไม่ หากไม่ใช่จะได้ทำการยกเลิกสัญญาณ แต่หากเป็นเพลิงไหม้จริงและไม่สามารถดับเพลิงในเบื้องต้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ชุดควบคุมจึงจะสั่งการให้กระดิ่งดังทั้งหมด และเชื่อมต่อไปยังระบบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทันที
5.3 ความดังของกระดิ่งแจ้งเหตุเพลิงไหม้ต้องไม่น้อยกว่า 65 dB และไม่เกิน 105 dB และต้องดังกว่าเสียงรอบข้างไม่น้อยกว่า 10 dB
5.4 สำหรับระดับเสียงที่ต้องการปลุกผู้อยู่อาศัยที่หลับอยู่ ต้องไม่น้อยว่า 70 dB เมื่อวัดในตำแหน่งที่หลับอยู่ (ห้องนอน)
5.5 หลังจากอุปกรณ์ตรวจจับถูกกระตุ้นให้ทำงาน ระบบต้องบันทึกการแจ้งเหตุภายใน 6 วินที
5.6 หลังจากอุปกรณ์พิสูจน์การแจ้งเหตุ (Verification) เริ่มทำงาน ระบบต้องบันทึกการแจ้งเหตุภายใน 30 วินาที
5.7 อุปกรณ์ตรวจจับความร้อนชนิดอัตราเพิ่มคงที่ ต้องทำงานภายใน 1 นาที เมื่อได้รับความร้อนตามที่กำหนด
5.8 การเชื่อมต่อระบบลิฟท์ เมื่อได้รับสัญญาณจากระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ต้องเรียกลิฟท์ทุกชุดมาจอดที่ชั้นล่างหรือชั้นที่กำหนดไว้ และแสดงผลการทำงานกลับไปที่ระบบควบคุมแจ้งเหตุ
5.9 การเชื่อมต่อระบบพัดลมอัดอากาศ เมื่อได้รับสัญญาณจากระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ต้องทำงานทันทีและแสดงผลการทำงานกลับไปที่ระบบควบคุมแจ้งเหตุ
5.10 การเชื่อมต่อระบบควบคุมควันไฟ เมื่อได้รับสัญญาณจากระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ต้องทำการระบายควันไฟ ลิ้นปิดกั้นควันทำงานปิดช่องลม และแสดงผลการทำงานกลับไปที่ระบบควบคุมแจ้งเหตุ
5.11 การเชื่อมต่อระบบดับเพลิง เมื่อได้รับสัญญาณจากระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เครื่องสูบน้ำดับเพลิงต้องอยู่ในสภาวะพร้อมทำงานทันที
6. นำผลการทดสอบไปพิจารณาจัดทำรายงานการตรวจสอบอาคาร

รูปที่ 5 อุปกรณ์ในระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้


รูปที่ 6 สเปรย์ทดสอบ Smoke Detector

สรุป
การตรวจสอบหรือทดสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร มีเจตนารมณ์เพื่อให้เจ้าของอาคารได้ทราบว่า ระบบและอุปกรณ์ที่มีอยู่นั้นสามารถใช้งานได้ในภาวะฉุกเฉินหรือไม่ และหากตรวจสอบพบอุปกรณ์ใดไม่มีสมรรถนะเพียงพอ จะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขให้ใช้งานได้ตามสมรรถนะที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการหนีออกจากอาคารไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ผู้ใช้อาคารก็จะต้องได้รับความปลอดภัยเสมอ

เอกสารอ้างอิง
[1] คณะทำงานจัดทำคู่มือสำหรับผู้ตรวจสอบและดูแลอาคาร. ตุลาคม 2549. รายละเอียดการตรวจสอบอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ. กรมโยธาธิการและผังเมือง.
[2] คณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า. มาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้. สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์.
[3] คณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า. มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและป้ายทางออกฉุกเฉิน. สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์.

กิตติกรรมประกาศ
ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณ บิดา มารดา ที่เลี้ยงดู และ ครูบาอาจารย์ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาทุกท่าน ที่ได้ให้ความรู้และ ประสิทธิประสาทวิชาให้ข้าพเจ้ามาโดยตลอด

ประวัติผู้เขียน
นายชัยยุทธ์ เงินส่งเสริม
วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสาขาไฟฟ้า แขนงไฟฟ้ากำลัง
ตำแหน่งนักบริหารระดับ 9
ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองบริการการ-
จำหน่าย การไฟฟ้านครหลวงเขตบางพลี

Blog ใหม่ของเราชาว IEL

สวัสดีครับ
ขอต้อนรับท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม "Blog ของผม - Blog ของเราขาว IEL"ใน Blog แห่งนี้ ทุกท่านสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรี ทั้งนี้บนเงื่อนไขแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วยเช่นกัน
โปรดงดแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมือง ศาสนา หรือ ความเชื่ออื่นที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง
และงดแสดงความคิดเห็นที่อาจก่อให้กิดผลกระทบต่อความมั่นคงของ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ณ บัดนี้ ขอเชิญทุกท่านได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอันมีคุณค่าของท่านผ่าน Blog แห่งนี้ได้ทันที